บทความวันจันทร์ (14 มิ.ย.64) : เรียกว่า “กำไร” ในช่วงโควิด
เรียกว่า “กำไร” ในช่วงโควิด
โดย วรา วราภรณ์
ไม่ว่าบ้านเมืองเราถูกโรคระบาดโควิด-19โจมตีระลอกแรกหรือระลอกสอง สำหรับคนที่ใช้ชีวิตในชนบทเช่นผู้เขียนก็สบายใจได้ข้อหนึ่งว่าไม่ต้องเสี่ยงกับการอยู่ในที่ชุมชน มีคนแออัด เหมือนคนในเขตเทศบาลหรือในตัวเมือง ยังคงสูดอากาศเข้าปอดได้เต็มที่โดยเฉพาะยามเดินออกกำลังกายตอนเช้า
แต่ก็ไม่ได้หมายถึงจะวางใจได้เสียทีเดียว เวลาออกจากบ้านไปร้านค้าหรือตลาดนัดก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยและใช้แอลกอฮอล์ล้างมือเสมอ ผู้เขียนทราบจากคุณ อสม.ว่ารัฐบาลให้แอลกอฮอล์มาทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละหนึ่งแกลลอนเบ้อเริ่ม เวลามีกิจกรรมในหมู่บ้านก็เอาออกไปใช้ อย่างการจัดผังทางเดินเข้า-ออกตลาดนัด หรือเวลานัดประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านและลูกบ้าน
ในหมู่บ้านของผู้เขียนซึ่งห่างจากตัวอำเภอประมาณสิบห้ากิโลเมตร รู้สึกน่าทึ่งที่ยังเห็นภาพเวลาชาวบ้านเดินทางไปไร่ไปนาหลายคนสวมหน้ากากอนามัยไปด้วย ก็ต้องถือว่าชีวิตวิถีใหม่ค่อย ๆ เกิดขึ้นในชุมชนของเราได้เหมือนกัน
ร้านค้าของชำใกล้บ้านทันสมัยมาก มีขาตั้งติดที่วัดอุณหภูมิแบบให้บริการหยดเจลล้างมือลงมาพร้อมสรรพ แถมยังใส่กลิ่นหอมฉุนตลบอบอวลเสียด้วย เป็นเอกลักษณ์ว่าใครเข้าร้านนี้ต้องมีกลิ่นติดตัวกลับบ้านไป
ชีวิตผู้เขียนในรอบสองไตรมาสดำเนินไปอย่างช้า ๆ จากเดิมที่ช้าอยู่แล้ว การค้าขายในชุมชนยังไม่คล่องตัว แม้กลับมาเปิดตลาดนัดอีกครั้ง แต่พ่อค้าแม่ค้ากลับมีจำนวนมากกว่าคนช็อปที่พยายามใช้เงินกันอย่างระมัดระวังเหลือเกิน มีร้านที่เข้าร่วมโครงการเยียวยาอย่าง “เราชนะ” ด้วยเหมือนกัน แต่กลับใช้สิทธิแค่เพดานขั้นต่ำเพราะเกรงต้องเสียภาษี จึงรองรับลูกค้าได้ไม่นานก็เต็มและต้องปิดบริการ น่าเสียดายจริง ๆ
สำหรับตนเอง เมื่องานหดหายไปตามสภาวะ ผู้เขียนจึงใช้เวลากับเรื่องอาหารที่ยังไม่เคยทดลองทำมาก่อนแต่เป็นเมนูชื่นชอบตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ประถม ด้วยการหัดทำ ขนมกุยช่ายไส้ผัก โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยน้องสาวที่ตั้งใจทำขายตามสั่ง คือเป็นคนปั้นแป้ง ทำให้เป็นแผ่นบาง แล้วตักผักกุยช่ายที่เตรียมไว้ใส่ลงบนนั้นแล้วห่อปิด ไม่ถึงกับยาก แต่ก็ไม่ง่าย ข้อดีมาก ๆ ของอาหารนี้ก็คือ ปรุงง่าย ไม่ซับซ้อนเลย งานนี้ภูมิใจและถือว่าเป็นกำไรชีวิตมากเพราะได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าเป็นคนปั้นขายได้จริง แต่ประเมินแล้วว่าน่าจะเป็นได้เพียงลูกมือเท่านั้น ยังไม่น่าจะไปถึงขั้นผู้ประกอบการที่ต้องจัดการขั้นตอนต่าง ๆ เองทั้งหมด
(ภาพถ่ายยืนยันฝีมือผู้ช่วยมือใหม่ ปั้นกลมก่อนเพราะยังจับจีบไม่เป็นค่ะ)
กำไรชีวิตอีกเรื่องหนึ่งในช่วงเก็บเนื้อตัวเก็บตัวกันก็คือ พาคุณแม่วัยเจ็ดสิบสาม เต้นพาสโลป (paslop) ยามเย็น
พาสโลปคือ การเต้นแบบชาว สปป.ลาว เน้นการใช้เท้าที่ไม่เร็วเกินไป มีจังหวะให้คนเป็นหมู่คณะได้เต้นได้พร้อมกัน ผู้เขียนตั้งใจชวนแม่ทำเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและคลายเหงาให้ท่านด้วย ทั้งที่จริง ๆ แล้วแม่เป็นคนขยันมาก ปลูกพืชผักสวนครัว ดายหญ้า รดน้ำเป็นประจำแทบไม่มีเวลาว่าง แต่นั่นคือการทำงานที่ไม่ได้ช่วยผ่อนคลาย ผู้เขียนจึงชวนแม่เต้นรำด้วยกันแทนทำสวนในช่วงเย็น โดยศึกษาจากวิดีโอใน YouTube ปรากฏว่าจากที่แม่เป็นคนเต้นรำไม่เป็นและไม่แม่นเรื่องจังหวะก็กลับเป็นสาวรำวงที่เต้นได้ถึงสามจังหวะแล้วโดยใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทั้งท่าพื้นฐาน ท่า 13 จังหวะ และบาสโลป ชะชะช่า เราแม่ลูกเต้นแข่งกันทุกเย็น
ออกกำลังกายแล้วไม่ผิดหวังเลย ภูมิคุ้มกันโควิดน่ะได้แน่ แถมยังมีความสุขระเบิดออกมาพร้อมสารเอนโดฟินทุกครั้งที่เต้น กับมีเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ได้ขับเหงื่อ เบาเนื้อเบาตัว ที่สำคัญอาการนอนไม่ค่อยหลับของแม่หายไปเลยจริง ๆ
คุณแม่วัยเจ็ดสิบสองของผู้เขียน
(ขอบคุณนักอ่านทุกท่านค่ะ)
14 มิถุนายน เวลา 22:12 น.
15 มิถุนายน เวลา 10:19 น.
ส่วนพาสโลป เต้นง่ายค่ะโดยเฉพาะท่าพื้นฐาน ไม่มีโยกย้ายส่ายสะโพก คุณผู้ชายเต้นได้สบายมาก
(แบบพระเอกเรย์ แมคโดนัลด์ ในเรื่องนั้นสินะ–ขออภัยค่ะถ้าจำผิด)
15 มิถุนายน เวลา 10:53 น.
‘บันทึกชาวดง’ ยังเป็นตำราเรียนรู้การทำมาหากินของคนรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างดีค่ะ ลีลาชีวิตประจำวันสมัยนั้นหาอ่านยากนะคะ ไม่แก่ไม่เก่าเขียนไม่ได้ดอกค่ะ
ยามสงครามโควิดปลิดชีวิตทั้งโลก ย่อมทำให้ชีวิตประจำวันหดหายไปหลายอย่าง เช่นไม่ออกจากบ้าน เสี่ยงติดเชื้อ จะประมาทมิได้เลย พยายามอยู่ให้ได้ค่ะ จนกว่าจะได้ฉีดวัคซีนกลางเดือนหน้า เรื่องวุ่นวายวัคซีนก็มิใช่ธุระของเรา เอาตัวให้รอดเรื่องรักษาโรคประจำตัว ก็ดีที่หมอส่งยามาให้แทนการไปพบ สะดวกมากค่ะ
ขอให้สุขกายสุขใจ ปลอดภัยโควิดนะคะ
15 มิถุนายน เวลา 20:33 น.
และดีใจมากที่คุณซูซี่สบายดี มีพลังใจเช่นที่เคย แถมยังได้แนะนำเพื่อน ๆ ด้วย
จะบอกคุณแม่ให้นะคะ ท่านต้องปลื้มแน่นอนค่ะ
16 มิถุนายน เวลา 18:19 น.
15 มิถุนายน เวลา 20:41 น.
สูตรแป้งของเราที่เลือกทำ ใช้ผสมกัน 3 ชนิดค่ะ คือ
แป้งข้าวเจ้า 180 กรัม
แป้งมัน 120 กรัม
แป้งท้าวยายม่อม 50 กรัม
(ได้จำนวนแป้ง 45-50 ก้อน (ก้อนละ 30 กรัม) ต่อไส้ผัก 1.2-1.3 กก.)
วิธีทำ
นำสามอย่างผสมเข้ากัน ใส่น้ำสะอาดลงไป 1 ลิตร และน้ำมันพืช (ที่ไม่ใช่ปาล์ม) 6 ช้อนโต๊ะ
กวนให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำไปตั้งไฟอ่อน คนไปเรื่อย ๆ จนแป้งจับตัวเป็นก้อน คะเนว่าเมื่อเย็นตัวพร้อมปั้นได้ก็ยกลงจากเตา พักไว้ในชามใช้ผ้าคลุมไม่ให้ถูกลม
ทิ้งไว้พอเย็นตัว นวดเบา ๆ โดยใช้แป้งมันรองพื้นและทามือเพื่อไม่ให้ติดมือ แล้วแบ่งเป็นก้อนเท่ากัน นำมาห่อไส้ค่ะ (เวลานึ่ง รอจนน้ำเดือดแล้วยกลังถึงขนมนึ่งแค่ 5 นาทีนะคะ)
(บางสูตรอยากให้หนึบก็ใช้แป้งข้าวเหนียวร่วมด้วย แต่ลองแล้ว ไม่ชอบเพราะหนืดเกิน กลืนยาก จึงตัดออก ชอบที่สูตรนี้ค่ะ)
ทำแล้วส่งข่าวบ้างนะคะ โชคดีค่ะ
16 มิถุนายน เวลา 18:27 น.
16 มิถุนายน เวลา 18:42 น.