เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง คุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเสียงของ ดอกอัญชัน ดอกไม้สีม่วงดอกเล็ก ๆ ที่ขึ้นให้เห็นอยู่ทั่วไปตามรายทาง ว่าสามารถนำมาทาให้ผมและคิ้วดกดำมากขึ้นได้ แถมบางคนยังเคยถูกนำมาทาคิ้วตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ๆ ด้วยซ้ำ เรียกว่าเด็กไทยจำนวนไม่น้อย ต้องเคยคิ้วดำด้วยสีม่วงน้ำเงินของเจ้าดอกอัญชันกันมาแล้วทั้งนั้น รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง (1 กรกฎาคม) จึงขอแวะเวียนไปเก็บเกี่ยวข้อมูลของดอกอัญชันมาฝากกันสักหน่อย แถมท้ายด้วยเมนูเด็ดจากดอกอัญชันอีก 2 เมนู ให้ได้อิ่มอร่อยกันด้วย ส่วนจะมีทีเด็ดอะไรบ้างนั้นต้องไปดูกันเลย ..
รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง ครั้งนี้ขออาสาพาไปเยี่ยมเยียน ตำบลดงพระราม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อพูดคุยกับ พี่สกุล สมคูณ ที่จะมาให้ความรู้เรื่องราวของดอกอัญชันกันสักหน่อย โดยพี่สกุลได้ปลูกดอกอัญชันเอาไว้จำนวนมาก ซึ่งวิธีการปลูกของพี่สกุลนั้นก็ไม่ธรรมดา เพราะเขาติดลำโพงเอาไว้เปิดเพลงให้ดอกอัญชันได้ฟังอย่างบันเทิงใจไปทั่วบริเวณ แถมพี่เขายังให้เหตุผลอาร์ต ๆ แบบคนรักต้นไม้ว่า อย่าคิดว่าต้นไม้ไม่ได้ยินเสียงเพลง เพราะต้นไม้ก็สามารถรับฟังเสียงต่าง ๆ ได้จากใบของมัน บางครั้งที่ได้ยินเสียงลมและเสียงเพลง พี่สกุลยังเคยเห็นใบไม้ขยับรับเสียงเหมือนมีหูอยู่ที่ใบอย่างไรอย่างนั้น
ลักษณะของดอกอัญชัน จะเป็นไม้เถาเลื้อยที่จะเลื้อยไปเป็นกลุ่มก้อนอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยปลายยอดจะเลื้อยไปหาแสง ยิ่งทอดยอดมากก็ยิ่งออกดอกเยอะ ทั้งนี้ดอกอัญชันนั้นพบเห็นได้ 2 ชนิดคือ แบบดอกเดี่ยว หรือเรียกว่า ดอกลา ซึ่งเป็นดอกอัญชันพันธุ์ไทยแบบดั้งเดิมที่พบเห็นได้ทั่วไป ส่วนอีกชนิดคือ แบบดอกซ้อน ที่มีกลีบดอกซ้อนกัน โดยคาดว่าเกิดจากการกลายพันธุ์
สีของดอกอัญชันจะเป็นสีม่วงกึ่งน้ำเงิน แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ โดยขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ถ้าหากดินเป็นกรด ดอกจะมีสีอ่อน แต่หากดินในพื้นที่นั้นเป็นด่าง ดอกอัญชันก็จะสีเข้ม นอกจากนี้เจ้าดอกอัญชันยังมีกลิ่นหอมกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของดอก แต่อาจจะไม่ค่อยได้กลิ่นหอมมากนักในดอกที่ยังสดอยู่ เนื่องจากในดอกอัญชันสดยังคงมีน้ำหล่อเลี้ยงทำให้กลิ่นหอมยังคงเจือจางอยู่กับน้ำ แต่ถ้าเริ่มแห้งเหี่ยวลงน้ำหล่อเลี้ยงในดอกอัญชันก็จะค่อย ๆ หายไป ทำให้สามารถส่งกลิ่นหอมได้มากขึ้น โดยกลิ่นหอมของดอกอัญชันนั้นจะคล้ายกับกลิ่นน้ำผึ้ง พอได้กลิ่นแล้วจะทำให้อยากดื่มน้ำมากขึ้น และเมื่อดื่มน้ำมาก ๆ ร่างกายก็จะสดชื่น ผ่อนคลาย
เห็นดอกเล็ก ๆ แบบนี้ แต่ดอกอัญชันกลับมีสรรพคุณทางยาที่มากมายหลากหลาย ทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ช่วยชะลอความแก่ได้ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งผิวพรรณ หน้าตา รวมถึงยังชะลอโรคความจำเสื่อมได้ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ลดภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง ป้องกันโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ ช่วยป้องกันการอักเสบ ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันเชื้อไวรัส ป้องกันการแพ้ และป้องกันหลอดเลือดเลี้ยงสมองอุดตันได้อีกด้วย
ที่นิยมก็คือการนำดอกอัญชันมาทาเพื่อให้คิ้วและผมดกดำ โดยมักจะใช้กับเด็กอ่อนในการเขียนคิ้วให้เป็นรูปสวย เนื่องจากเด็กอ่อนที่กำลังเจริญเติบโต จะเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังสร้างรูขุมขน เมื่อนำดอกอัญชันไปทาคิ้วก็เหมือนการใส่ปุ๋ยให้ขนขึ้นอย่างแข็งแรงดกดำ ขณะที่ความเชื่อว่าสามารถนำดอกอัญชันไปใช้ปลูกผมในคนผมบางได้ด้วยนั้น ยังไม่มีการยืนยันผลที่แน่ชัด แต่คาดว่าเป็นเพราะสีเข้มของดอกอัญชัน เมื่อนำไปทาโคนผมในส่วนที่บางแล้ว จะทำให้ผมดูดกดำและหนาขึ้นนั่นเอง
สำหรับการเก็บดอกอัญชันให้มีคุณภาพดีนั้น ให้นำดอกสดที่เก็บมาแล้ว ไปแผ่ตากแดดตากลมประมาณ 2 วัน จากนั้นจึงนำไปใส่ตู้อบเพื่อลดความชื้น ซึ่งตู้อบก็สามารถทำเองได้ง่าย ๆ โดยการนำถังมา 1 ใบ ใส่หลอดไฟ 2 หลอด เพื่อให้ความร้อน จากนั้นนำดอกอัญชันเรียงใส่ถาดนำเข้าไปอบในถัง อย่าลืมกลับด้านให้ได้รับความร้อนทั่วถึง ทิ้งไว้ประมาณ 15 ชั่วโมง ก็สามารถนำไปส่งขายเพื่อผลิตเป็นสมุนไพรไทยชั้นดีได้แล้ว
รู้จักกับดอกอัญชันกันไปแล้ว พลาดไม่ได้ที่จะมีเมนูเด็ด ๆ จากดอกอัญชันมาฝากกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ต้องไปดูกันเลยจ้า
ราดหน้าปลาทู ชูอัญชัน
ส่วนประกอบ
ปลาทู
เส้นหมี่เหลือง
ผักคะน้า
พริกชี้ฟ้า
กระเทียม
เต้าเจี้ยว
แป้งมันสำปะหลัง
แป้งชุบทอด
พริกไทยป่น
น้ำตาลทราย
น้ำส้มสายชู
น้ำมันพืช
น้ำปลา
ซีอิ๊วขาว
น้ำมันหอย
ใบตอง
วิธีทำ
1. หั่นต้นคะน้า และปอกกระเทียมเตรียมไว้
2. นำใบตองมาห่อปลาทู แล้วนำไปย่าง เมื่อสุกแล้วแกะเอาก้างออก
3. นำดอกอัญชันลงต้มในน้ำเดือด แล้วกรองเอาแต่ดอก
4. พันเส้นหมี่เหลืองให้เป็นวง ๆ พอดีคำ แล้วนำลงกระทะทอดให้กรอบ
5. ผสมแป้งมันกับน้ำแล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นนำดอกอัญชันมาชุบแป้งแล้วเอาลงทอดในกระทะ
6. นำกระเทียมกับเต้าเจี้ยวที่ตำให้เข้ากันแล้วลงไปผัดในกระทะ เติมเต้าเจี้ยวต่ออีกนิดหน่อย ตามด้วยเนื้อปลาทูย่างที่แกะไว้แล้ว และเติมน้ำดอกอัญชันลงไป
7. ผัดทุกอย่างให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย น้ำตาล จากนั้นใส่ผักคะน้าและแป้งมันลงไปคนให้เหนียว ตักราดบนหมี่กรอบที่เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จสิ้น
ข้าวเกรียบปากหม้ออัญชัน
ส่วนประกอบ
กุ้งสด
แป้งข้าวเจ้า
แป้งมันสำปะหลัง
แป้งท้าวยายม่อม
กะทิ
เกลือป่น
หอมแดง
กระเทียม
ถั่วลิสง
ไชโป๊วหวาน
รากผักชี
พริกไทยป่น
น้ำตาลปี๊บ
น้ำปลา
ซีอิ๊วขาว
น้ำมันพืช
วิธีทำ
1. แกะกระเทียม กุ้ง และ หอมแดง จากนั้นนำไปล้างให้สะอาดแล้วนำมาซอย
2. คั่วถั่วลิสงในกระทะตั้งไฟจนได้ที่ จากนั้นนำลงไปคลึงเบา ๆ ในครก เพื่อกะเทาะเปลือกออก ก่อนที่จะนำไปเขย่าเปลือกทิ้ง แล้วตำให้ละเอียด
3. ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งท้าวยายม่อม และแป้งมัน กับหัวกะทิ คนให้เข้ากัน แล้วเติมเกลือลงไป
4. ใส่น้ำอัญชันลงไปในแป้ง กวนให้เข้ากัน
5. ใส่กระเทียม รากผักชี ลงผัดในกระทะ เติมด้วยพริกไทยป่นและน้ำตาลปี๊บ เมื่อเข้ากันดีแล้วให้เอาขึ้นพักไว้ก่อน
6. นำหัวไชโป๊วที่ซอยไว้แล้วลงไปผัด ตามด้วยน้ำอัญชัน กุ้งสด หอมแดง และปรุงรสด้วยซีอิ๊ว เกลือป่น และน้ำปลา ผัดให้เข้ากัน
7. เติมถั่วลิสงที่คั่วไว้ จากนั้นใส่ดอกอัญชันที่ซอยแล้วใส่ลงไป เมื่อได้ที่แล้วให้พักไว้ก่อน
8. นำผ้าขาวบางชุบน้ำ มาวางบนปากหม้อดินที่ใส่น้ำเตรียมไว้แล้ว จากนั้นตั้งเตาให้น้ำเดือด
9. เมื่อน้ำเดือดแล้วให้เทแป้งลงบนผ้าขาวบาง วนแป้งให้แผ่เป็นวง ปิดฝาหม้อดินนึ่งให้แป้งสุก
10. เมื่อแป้งสุกแล้วให้ใส่ไส้ที่ทำไว้ลงไปตรงกลาง ประดับด้วยดอกอัญชัน แล้วห่อแป้งให้สวยงาม เป็นอันเสร็จสิ้น
และนี่คือสรรพคุณดี ๆ ของดอกอัญชัน พร้อมทั้งเมนูอร่อยแปลกไม่ซ้ำใคร ที่สามารถนำไปทำรับประทานกันได้ทั้งครอบครัว เชื่อได้ว่าหลายคนคงจะทึ่งในคุณสมบัติดี ๆ ของดอกอัญชัน ดอกไม้ดอกเล็กที่สรรพคุณไม่เล็กเลยสักนิด และนอกจาก 2 เมนูอร่อยที่นำมาฝากกันแล้ว หากใครคิดค้นเมนูใหม่ ๆ จากดอกอัญชันได้ล่ะก็ อย่าลืมนำมาแบ่งปันเพื่อน ๆ ให้ได้ลองทำกันดูบ้างนะคะ
สูตรอาหาร เมนูอาหารแบบง่าย ๆ เคล็ดลับการทำอาหาร คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่